25 กันยายน 2553

วัดกู่เต้า

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ 262 ปี ถึงพ.ศ. 2101 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตรย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่และล้านนา และสามารถยึดเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดายเนื่องจากบ้านเมืองขณะนั้นอ่อนแอที่สุด เสนาอามาตย์แตกความสามัคคี กษัตริย์ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองให้เป็นปกติได้
หลังจากยึดครองเชียงใหม่และล้านนาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนองทรงจัดการปกครองเชียงใหม่และล้านนาแบบประเทศราช ทรงตั้งพระเมกุฎิครองเมืองเชียงใหม่ต่อไปตามเดิม
พ.ศ.2106 พม่ายกกองทัพรบกับกรุงศรีอยุธยา โดยเกณฑ์กองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบ เห็นว่าพระเมกุฎิไม่ได้ช่วยรบอย่างจริงจัง ทั้งยังพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า
พม่าจึงยกไพร่พลมาควบคุมเชียงใหม่ จับตัวพระเมกุฎิ นำไปไว้ยังเมืองหงสาวดีเมื่อพ.ศ.2107 แล้วตั้งพระนางวิสุทธิเทวี พระธิดาพญาเมืองเกษเกล้า ซึ่งถูกนำตัวไปเป็นชายาพระเจ้าบุเรงนองให้มาครองเมืองเชียงใหม่
พระนางวิสุทธิเทวีนับเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์สุดท้าย เพราะเมื่อสิ้นพระนางแล้ว พระเจ้าหงสาวดีทรงแต่งตั้งฟ้าสาวัตถี นรถามังคอย หรือมังนรธาช่อ พระโอรสที่เกิดจากพระนางวิสุทธิเทวีมาครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2121-2150)
ประมาณพ.ศ.2140 มังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ถวายเครื่องราชบรรณาการยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพราะพระเจ้ากรุงหงสาวดีนันทบุเรงทรงบัญชาให้ทัพเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุธยา มังนรธาช่อคงประเมินดูแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาเข้มแข็งขึ้นมาก ขณะที่กรุงหงสาวดีอ่อนแอลง หากทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา กรุงหงสาวดีคงไม่สามารถคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อสาวมิภักดิ์กรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงให้มังนรธาช่อครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป และทรงจัดการเมืองต่างๆในล้านนาที่แข็งเมืองต่อเชียงใหม่ด้วยเห็นว่าเป็นพม่า ให้กลับมาอยู่ในอำนาจปกครองของเชียงใหม่ตามเดิม รวมทั้งทรงห้ามทัพล้านช้างที่ยกมาตีเชียงใหม่
มังนรธาช่อครองเชียงใหม่จนสิ้นอายุ เมื่อสิ้นมังนรธาช่อ อนุชาได้นำอัฐิมาเก็บในกู่ที่ก่อขึ้นเป็นรูปคล้ายน้ำเต้า และสร้างวัดชึ้น ณ ที่นั้น เรียกว่าวัดเวฬุวัน หรือวัดกู่เต้า

กู่เต้า จัดเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษ ลักษณะคล้ายน้ำเต้า หรือบาตรพระซ้อนกัน 5 ชั้น มีซุ้มพระทั้งสี่ทิศทุกชั้นวางบนฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ส่วนปลายมีปลียอดและฉัตรโลหะแบบพม่า
ติดประดับด้วยเครื่องเคลือบเป็นรูปดอกไม้ สวย แปลกดี
หลังการบูรณะเมื่อพ.ศ.2551 ลักษณะกู่เต้าสีดำที่เห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็กก็หายไป กลายเป็นสีขาวโพลน ซึ่งคงเป็นไปตามรูปแบบเมื่อแรกสร้าง แต่สภาพภูมิอากาศบ้านเราก็ทำให้เริ่มมีคราบราดำเกิดขึ้น ไม่นานก็คงสวยเหมือนเดิม ^_^
พระในซุ้มจรนำดูเล็กผิดสัดส่วนของซุ้ม สงสัยไม่ใช่ของดั้งเดิม...
ปูนปั้นรูปตัวอะไรไม่แน่ใจ
ที่จอดรถร่มรื่น
โบสถ์หลังเล็กตามแบบล้านนา มีป้ายที่ขัดรัฐธรรมนูญบอกว่า "สตรีห้ามขึ้น"
ศาลาปล๋ายเหลี้ยมแบบพม่าที่กำลังรอเงินบริจาค
วิหารหลังใหญ่ สร้างขึ้นใหม่ ทำเป็นสองชั้น ใหญ่โตมโหฬาร
มกรคายนาคสวยๆที่บันไดทางขึ้นวิหาร
พระประธานปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอิทธิพลพม่า ทั้งองค์พระ ซุ้มพระและลวดลายด้านหลังที่นำมาจากธรรมาสแบบไทใหญ่หรือพม่า
วัดกู่เต้ามีศรัทธาชาวไทใหญ่และพม่ามาทำบุญด้วย ป้ายจึงต้องมีสองภาษา

08 สิงหาคม 2553

วัดพุทธเอ้น

วัดพุทธเอ้น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
กับโบสถ์น้ำหน้าวัด ที่สวยแปลกตา
โบสถ์น้ำใช้น้ำเป็นเขตสีมา เรียก อุทกเขปสีมา
เราจึงไม่เห็นใบเสมารอบโบสถ์หลังนี้

ปัจจุบันเหลือน้อยแล้ว เพราะทำโบสถ์บก ปักใบเสมากันหมด

ประตูทางเข้าด้านหน้าที่ทำลวดลายซะเนี๊ยบสวย ไม่ Folk เท่าไหร่เลย
ดูไม่ค่อยเข้ากับอาคาร

รูปถ่ายหน้าตรง สีสันสดใส มีป้ายขัดรัฐธรรมนูญปักอยู่ :)

แอบถ่ายด้านในผ่านช่องหน้าต่าง ก็ต้องร้องเสียดายจัง ใครช่วยเปลี่ยนโต๊ะหมู่ให้ท่านหน่อย

ธาตุใหม่ทรงล้านนา ก่อขึ้นเมื่อปี 40

พระประธานด้านในดูดี เพราะไม่มลังเมลืองเปล่งปลั่งเกินไป
ดูเป็นงานพื้นถิ่นดี แท่นแก้วก็เหมือนกัน สวยแบบไม่เนี๊ยบ

วิหารทรงล้านนา หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด ผังหักจ๊อก
มีสิงห์แบบพื้นเมืองนั่งเฝ้าบันไดอยู่คู่หนึ่ง
กำลังบูรณะใหม่ เห็นดินขอมุงหลังคาแล้วก็เสียดายอีกเหมือนกัน หนาเกินไป
คงจำเป็นเพราะต้องการความคงทนกว่าดินขอบางๆแบบเดิม
แต่ใช้อย่างหนานี้มันไม่ได้อารมณ์
ผมนี้เห็นแก่ตัวจริงๆ อะไรๆก็อยากเห็นอย่างที่ตัวเองชอบ...

สิงห์คู่นี้ขอเถอะครับ อย่าซ่อมให้เนี๊ยบเลย

ลวดลายที่ผนังหอไตรครับ

18 มกราคม 2553

วัดสำเภา

วัดสำเภามีวิหารแบบพื้นเมืองล้านนา หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด

บันไดทางขึ้นมีสิงห์คู่เฝ้าอยู่ เป็นสิงห์เหนือ ซึ่งมีอิทธิพลพม่าอยู่

ภายในวิหารมีเสาร่วมในเป็นเสากลม ซึ่งเอกลักษณ์หนึ่งของวิหารล้านนา

มีป้ายประวัติวัดพอสังเขปให้ทราบ

หน้าแหนบเป็นปูนปั้นบนพื้นไม้ แน่นปึ้กไม่มีที่ว่าง

พระพุทธรูปประธาน

ลองนั่งลงในห้องโถงตรงหน้าประธานถ่ายภาพแบบพาราโนรามา

วัดบ้านตาล

วัดบ้านตาล หรือ วัดลัฎฐิวัน มีวิหารทรงพื้นเมือง หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด
แต่องค์ประกอบบางส่วนถูกปรับเป็นแบบภาคกลาง และใช้วัสดุสมัยใหม่ เช่น ใช้หินอ่อนบุพื้นและผนังภายในทั้งหมด และนาคที่บันไดหน้า

งานไม้แกะสลักที่หน้าแหนบ คอกีดและโก่งคิ้วสวยงามมาก แกะลึกทำให้เห็นลายชัดมาก

นาคตันสีดำ ถ่ายรูปให้ติดลายยาก

วิหารวางไว้หน้าธาตุแบบผสมผสานศิลปพม่าและพื้นเมือง ส่วนบนตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไป ทำแบบพม่า แต่ส่วนฐานถึงชั้นมาลัยเถา ทำเป็นแปดเหลี่ยมคล้ายแบบพื้นเมืองล้านนา ดูแปลกตา แต่ทำให้น่าสนใจขึ้น

หน้าต่างไม่มีซุ้ม บานแกะไม้ลายลึกสวยดี

ภายในมีปราสาทพระเจ้าองค์ใหญ่ สัดส่วนสวยงาม รายละเอียดตกแต่งดี

ธรรมาสลายนกยูง

สิงห์หน้าวัดรูปร่างสันทัด สีเขียวจางๆ สวยแปลกตาไม่เหมือนใคร

วัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีไม้ค้ำเยอะ บางอันสูงใหญ่ คนตานคงได้บุญเยอะ