20 กันยายน 2551

วัดบุพพารามหรือวัดเม็ง

พ.ศ.2041 พญาเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนา โปรดให้สร้างวัดบุพพารามขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านที่พระปัยกาคือพญาติโลกราชและพระบิดาคือพญายอดเชียงรายเคยประทับ ตั้งชื่ออารามนั้นว่า วัดบุพพาราม แปลว่า อารามตะวันออก ด้วยเพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่

โปรดให้อาราธนาพระมหาสังฆราชาปุสสเทวะมาจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาส ขณะถวายพระอารามให้เป็นทานนั้นเกิดแผ่นดินไหวเป็นที่อัศจรรย์

ย่างเข้าปีที่ 3 เป็นปีมะเมีย ทรงสร้างปราสาทขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พอปีที่ 4 ทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอพระมณเฑียรธรรมที่โปรดให้สร้างขึ้น

ธาตุแบบพม่า สร้างขึ้นในสมัยล้านนายุคหลัง โดยคณะศรัทธาชาวพม่าที่มาตั้งบ้านเรือนค้าขายกับล้านนาเป็นจำนวนมากในย่านนั้น

วิหารไม้หลังเก่าของวัด ทรงสวยแบบล้านนา

วิหารหลังใหม่ที่สร้างใหญ่โตรองรับการใช้งานได้มากกว่า

19 กันยายน 2551

วัดพระสิงห์


เดิมชื่อวัดลีเชียงพระ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งราชวงศ์มังรายว่า
เมื่อพญาคำฟู กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 สิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงแสน เมืองหลวงของล้านนาในขณะนั้น
พญาผายู โอรสซึ่งขณะนั้นครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะอุปราชครองเมืองลูกหลวง ได้เดินทางไปส่งสการพระบิดาที่เมืองเชียงแสน
แล้วนำอัฐิกลับมาบรรจุไว้ที่เมืองเชียงใหม่ โปรดให้ก่อพระเจดีย์คร่อมทับไว้ แล้วโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น
โปรดให้นิมนต์พระมหาอภัยจุฬาเถระ ซึ่งเป็นประมุขคณะสงฆ์พร้อมลูกศิษย์อีกสิบองค์จากเมืองหริภุญชัยมาจำพรรษาที่วัดนี้
เมื่อล้านนาได้พระพุทธสิหิงค์มาในสมัยพญาแสนเมืองมา พระองค์โปรดให้สร้างวิหารขึ้นที่วัดนี้เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เนื่องจากวิหารถูกตกแต่งด้วยการเขียนลายคำจนเต็ม จึงถูกเรียกว่า วิหารลายคำ

วัดนี้จึงถูกเรียกใหม่ว่า วัดพระสิงห์ ตามชื่อพระพุทธรูป
จนถึงสมัยพระเมืองแก้ว วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะและสร้างอาคารใหม่อีกหลายหลัง

วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พ.ศ.2360
ท่านให้บูรณะพระอุโบสถและพระเจดีย์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในปีถัดมา สร้างพระพุทธรูปประธานในวิหารหลวงในอีก 2 ปีถัดมา
พระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 3 ให้สร้างกู่ลายขึ้นมาใหม่ตรงบริเวณที่พระเมืองแก้วทรงสร้างไว้ พบโบราณวัตถุมีค่ามากมายระหว่างการก่อสร้าง
วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะอีกหลายครั้งเรื่อยมา เพราะเป็นวัดสำคัญ เช่น
บูรณะวิหารลายคำในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์
บูรณะวิหารหลวงในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
บูรณะหลายรายการโดยครูบาศรีวิชัยและประชาชนชาวเชียงใหม่
บูรณะหอไตรและพระอุโบสถในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ

วัดพระสิงห์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับการทะนุบำรุงอย่างดี
สถาปัตยกรรมสำคัญภายในวัดได้รับการบูรณะมาโดยตลอด

ความสำคัญของวัดพระสิงห์ นอกจากจะเป็นสถานที่ตั้งพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู กษัตริย์ล้านนาและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์แล้ว
ด้านสถาปัตยกรรม วัดพระสิงห์มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สำคัญหลายหลังประกอบด้วย


พระธาตุหลวง
พระเจดีย์องค์ปัจจุบันนี้เป็นพระเจดีย์ที่สร้างคร่อมทับเจดีย์องค์เดิม ซึ่งคงเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ทราบขนาด ที่ได้รับการบูรณะหลายครั้งตั้งแต่แรกสร้างพร้อมกับการสร้างวัด
ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานในการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้เมื่อ พ.ศ.2469 มีขนาดสูงสุดที่ยอดประมาณ 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละประมาณ 16 วา
เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงล้านนา ทรงเดียวกับพระธาตุหริภุญชัย คือเป็นพระธาตุทรงกลม
องค์ระฆังขนาดเล็กวางบนชั้นมาลัยเถาที่ยืดสูงจนเป็นจุดเน้นจุดเด่นของพระเจดีย์
ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีช้างล้อมทั้ง 4 ด้าน ด้านละตัว
เฉพาะส่วนฐานนี้เองที่เป็นจุดที่แตกต่างจากพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ไม่มีช้างล้อม
พระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรงตามความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย


วิหารลายคำ
วิหารแบบล้านนาประยุกต์ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์
ตัววิหารมีรูปแบบสวยงามได้สัดส่วน ตกแต่งด้วยลวดลายรดน้ำปิดทอง เป็นที่มาของชื่อวิหารลายคำ
ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังสำคัญทรงคุณค่า ที่เขียนเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาเมื่อร้อยปีก่อน
ลักษณะเฉพาะอีกประการของวิหารลายคำคือมีปราสาทก่ออิฐฉาบปูนสร้างอยู่ด้านหลังตัววิหาร มีทางเชื่อมกัน เช่นเดียวกับวิหารวัดปราสาท



หอไตร เป็นแบบล้านนา
ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างเป็นเครื่องก่อ มีลายปูนปั้นเป็นเทวดายืนด้านบน
และด้านล่างมีลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์หิมพานต์
ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ มีลายสลักไม้ ลายเขียนและปิดกระจก
หลังคาลดชั้น 2 ชั้น 2 ตับ


อุโบสถสองสงฆ์ เป็นอุโบสถเครื่องไม้แบบล้านนา ขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังคา 3 ชั้น มีระเบียงมุขทั้งหน้าหลัง ภายในมีมณฑปปราสาทตั้งอยู่ตรงกลางมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ทั้งสองด้านหันหน้าออก ทำให้พื้นที่และประโยชน์ใช้สอยแยกเป็น 2 ส่วน จึงเรียกว่า อุโบสถสองสงฆ์ ส่วนสาเหตุแท้จริงของการสร้างอุโบสถรูปแบบนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด