01 พฤศจิกายน 2551

วัดท้าวคำวัง

วัดท้าวคำวังตั้งอยู่ในเขตอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญคือวิหารทรงพื้นเมือง และพระธาตุทรงปราสาท
มุขเล็กด้านข้างคลุมทางเข้า
พระธาตุเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังขนาดเล็ก

01 ตุลาคม 2551

วัดพวกหงษ์


วัดพวกหงษ์ อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ในเขตคูเมือง เป็นวัดเล็กๆพื้นที่ไม่มากนัก
มีสิ่งน่าสนใจในวัดคือ ธาตุเจดีย์รูปแบบเฉพาะตัว ที่มีอยู่น้อยแห่ง


ธาตุแบบที่เรียกกันว่า เจดีย์ปล่อง ทรงกลม รูปแบบคล้ายเก๋งจีน
แต่ละชั้นที่ซ้อนกันมีซุ้มพระโดยรอบ นอกจากที่วัดพวกหงษ์นี้ ก็จะพบเจดีย์ทรงนี้ได้ที่วัดร่ำเปิงและวัดเจดีย์ปล่องเท่านั้น

วัดนี้มีอุโบสถด้วย เป็นอุโบสถขนาดเล็ก แต่ที่น่าสนใจคือเสมา

เป็นเสมาแบบล้านนา ซึ่งเท่าที่พบก็มีเพียงที่นี่เท่านั้นที่ยังใช้งานอยู่ นอกนั้นก็จะพบอยู่ในพิพิธภัณฑ์


ต๋อมน้ำแบบดั้งเดิมสำหรับพระ วัดในเมืองทั่วไปไม่เหลือแล้ว ทุบทิ้งไปแล้วเพราะไม่ใช้แล้ว

20 กันยายน 2551

วัดบุพพารามหรือวัดเม็ง

พ.ศ.2041 พญาเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนา โปรดให้สร้างวัดบุพพารามขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านที่พระปัยกาคือพญาติโลกราชและพระบิดาคือพญายอดเชียงรายเคยประทับ ตั้งชื่ออารามนั้นว่า วัดบุพพาราม แปลว่า อารามตะวันออก ด้วยเพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่

โปรดให้อาราธนาพระมหาสังฆราชาปุสสเทวะมาจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาส ขณะถวายพระอารามให้เป็นทานนั้นเกิดแผ่นดินไหวเป็นที่อัศจรรย์

ย่างเข้าปีที่ 3 เป็นปีมะเมีย ทรงสร้างปราสาทขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พอปีที่ 4 ทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอพระมณเฑียรธรรมที่โปรดให้สร้างขึ้น

ธาตุแบบพม่า สร้างขึ้นในสมัยล้านนายุคหลัง โดยคณะศรัทธาชาวพม่าที่มาตั้งบ้านเรือนค้าขายกับล้านนาเป็นจำนวนมากในย่านนั้น

วิหารไม้หลังเก่าของวัด ทรงสวยแบบล้านนา

วิหารหลังใหม่ที่สร้างใหญ่โตรองรับการใช้งานได้มากกว่า

19 กันยายน 2551

วัดพระสิงห์


เดิมชื่อวัดลีเชียงพระ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งราชวงศ์มังรายว่า
เมื่อพญาคำฟู กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 สิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงแสน เมืองหลวงของล้านนาในขณะนั้น
พญาผายู โอรสซึ่งขณะนั้นครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะอุปราชครองเมืองลูกหลวง ได้เดินทางไปส่งสการพระบิดาที่เมืองเชียงแสน
แล้วนำอัฐิกลับมาบรรจุไว้ที่เมืองเชียงใหม่ โปรดให้ก่อพระเจดีย์คร่อมทับไว้ แล้วโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น
โปรดให้นิมนต์พระมหาอภัยจุฬาเถระ ซึ่งเป็นประมุขคณะสงฆ์พร้อมลูกศิษย์อีกสิบองค์จากเมืองหริภุญชัยมาจำพรรษาที่วัดนี้
เมื่อล้านนาได้พระพุทธสิหิงค์มาในสมัยพญาแสนเมืองมา พระองค์โปรดให้สร้างวิหารขึ้นที่วัดนี้เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เนื่องจากวิหารถูกตกแต่งด้วยการเขียนลายคำจนเต็ม จึงถูกเรียกว่า วิหารลายคำ

วัดนี้จึงถูกเรียกใหม่ว่า วัดพระสิงห์ ตามชื่อพระพุทธรูป
จนถึงสมัยพระเมืองแก้ว วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะและสร้างอาคารใหม่อีกหลายหลัง

วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พ.ศ.2360
ท่านให้บูรณะพระอุโบสถและพระเจดีย์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในปีถัดมา สร้างพระพุทธรูปประธานในวิหารหลวงในอีก 2 ปีถัดมา
พระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 3 ให้สร้างกู่ลายขึ้นมาใหม่ตรงบริเวณที่พระเมืองแก้วทรงสร้างไว้ พบโบราณวัตถุมีค่ามากมายระหว่างการก่อสร้าง
วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะอีกหลายครั้งเรื่อยมา เพราะเป็นวัดสำคัญ เช่น
บูรณะวิหารลายคำในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์
บูรณะวิหารหลวงในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
บูรณะหลายรายการโดยครูบาศรีวิชัยและประชาชนชาวเชียงใหม่
บูรณะหอไตรและพระอุโบสถในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ

วัดพระสิงห์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับการทะนุบำรุงอย่างดี
สถาปัตยกรรมสำคัญภายในวัดได้รับการบูรณะมาโดยตลอด

ความสำคัญของวัดพระสิงห์ นอกจากจะเป็นสถานที่ตั้งพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู กษัตริย์ล้านนาและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์แล้ว
ด้านสถาปัตยกรรม วัดพระสิงห์มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สำคัญหลายหลังประกอบด้วย


พระธาตุหลวง
พระเจดีย์องค์ปัจจุบันนี้เป็นพระเจดีย์ที่สร้างคร่อมทับเจดีย์องค์เดิม ซึ่งคงเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ทราบขนาด ที่ได้รับการบูรณะหลายครั้งตั้งแต่แรกสร้างพร้อมกับการสร้างวัด
ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานในการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้เมื่อ พ.ศ.2469 มีขนาดสูงสุดที่ยอดประมาณ 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละประมาณ 16 วา
เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงล้านนา ทรงเดียวกับพระธาตุหริภุญชัย คือเป็นพระธาตุทรงกลม
องค์ระฆังขนาดเล็กวางบนชั้นมาลัยเถาที่ยืดสูงจนเป็นจุดเน้นจุดเด่นของพระเจดีย์
ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีช้างล้อมทั้ง 4 ด้าน ด้านละตัว
เฉพาะส่วนฐานนี้เองที่เป็นจุดที่แตกต่างจากพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ไม่มีช้างล้อม
พระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรงตามความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย


วิหารลายคำ
วิหารแบบล้านนาประยุกต์ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์
ตัววิหารมีรูปแบบสวยงามได้สัดส่วน ตกแต่งด้วยลวดลายรดน้ำปิดทอง เป็นที่มาของชื่อวิหารลายคำ
ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังสำคัญทรงคุณค่า ที่เขียนเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาเมื่อร้อยปีก่อน
ลักษณะเฉพาะอีกประการของวิหารลายคำคือมีปราสาทก่ออิฐฉาบปูนสร้างอยู่ด้านหลังตัววิหาร มีทางเชื่อมกัน เช่นเดียวกับวิหารวัดปราสาท



หอไตร เป็นแบบล้านนา
ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างเป็นเครื่องก่อ มีลายปูนปั้นเป็นเทวดายืนด้านบน
และด้านล่างมีลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์หิมพานต์
ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ มีลายสลักไม้ ลายเขียนและปิดกระจก
หลังคาลดชั้น 2 ชั้น 2 ตับ


อุโบสถสองสงฆ์ เป็นอุโบสถเครื่องไม้แบบล้านนา ขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังคา 3 ชั้น มีระเบียงมุขทั้งหน้าหลัง ภายในมีมณฑปปราสาทตั้งอยู่ตรงกลางมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ทั้งสองด้านหันหน้าออก ทำให้พื้นที่และประโยชน์ใช้สอยแยกเป็น 2 ส่วน จึงเรียกว่า อุโบสถสองสงฆ์ ส่วนสาเหตุแท้จริงของการสร้างอุโบสถรูปแบบนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด



05 สิงหาคม 2551

วัดหนองแดง

วัดหนองแดง ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในวัดคือ วิหาร เป็นศิลปะไทลื้อ ทั้งตัวอาคารและองค์ประกอบอาคารภายใน เช่น ฐานชุกชี พระประธาน ฯลฯ


วิหารวัดหนองแดง หลังคามุงแป้นเกล็ด มีแป้นน้ำย้อย

พระประธานภายในวิหาร

อาสนะภายในวิหาร

03 สิงหาคม 2551

วัดดวงดี

วัดดวงดีตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ ปรากฎชื่อวัดในพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ว่า"เจ้าขี้หุด"เป็นพระวัดนี้ ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ.2304

พระธาตุวัดดวงดี จัดเป็นพระธาตุทรงล้านนาแปดเหลี่ยม เน้นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมบนฐานสีเหลี่ยมยกเก็จ ทรงเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ มีฉัตรโลหะครอบยอดตามแบบล้านนา


อุโบสถขนาดเล็กกะทัดรัดของวัดดวงดี (สังเกตุเสมาเป็นหลักปูนสี่เหลี่ยมโดยรอบ) ได้รับการบูรณะจนขาดสุนทรียภาพของโบราณสถาน

หอไตรทรงมณฑป ผังสี่เหลี่ยมจตุรัสทรงสวย

วิหารก่อนการบูรณะ

วิหารวัดก็ได้รับการบูรณะในคราวเดียวกับอุโบสถ เรียบร้อยสวยงามแต่ขาดสุนทรียภาพของโบราณสถาน

วัดละมุดใน

วัดละมุดใน ตั้งอยู่ที่บางกรวย นนทบุรี อยู่ริมคลองบางราวนก มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจคือหอไตรและศาลาท่าน้ำ

หอไตรเครื่องไม้กลางสระ สัดส่วนสวยงาม เครื่องลำยองไม้ บานประตูลงรักปิดทองลายพันธ์พฤกษา

ศาลาท่าน้ำเครื่องไม้ ขนาด 2 ห้อง หลังคา 2 ตับ ผุพังไปมากแล้ว แต่ยังเห็นสัดส่วนที่สวยงามได้

ศาลาการเปรียญสร้างใหม่ เป็นศาลาโถงคือไม่มีผนังปิดทึบ

วัดโลการาม

วัดโลการามตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา ออกนอกเมืองไปพอประมาณ

โบสถ์หลังเก่าของวัดโลการามเป็นโบสถ์โถง ได้รับการอนุรักษ์ไว้

พระประธานในโบสถ์ถูกสร้างผนังและประตูเหล็กล้อมไว้กันหาย

หอระฆัง

วัดนี้มีต้นยางนาขนาดใหญ่เป็น Landmark.

วัดสุชาดาราม

วัดสุชาดารามเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง องค์ประกอบในเขตพุทธาวาสยังอยู่ครบ ทั้งพระธาตุ วิหาร และอุโบสถ

ป้ายโบราณสถาน เห็นร่องรอยคำว่า "วัด" นำหน้า แต่ใครคงเห็นว่าเป็นวัดร้าง ไม่มีสภาพวัดแล้ว จึงลบคำว่า "วัด"ออก

วิหารขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังคา 3 ชั้น 2 ตับ ระนาบหลังคาอ่อนโค้งเล็กน้อย
วางสิงห์คู่ไว้ในตำแหน่งที่นิยมกันในเมืองลำปาง คือวางชิดตัวอาคารและยกแท่นให้สูงระดับคอสองเหนือประตู อาคารหลังนี้ได้รับการบูรณะแล้ว

อุโบสถที่ยังรอการบูรณะ เป็นอาคารอุโบสถขนาดเล็ก หลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุขหน้าเป็นระเบียงโถง
บันไดนาคใช้จังหวะการทอดตัวของนาคตามแบบที่นิยมกันในล้านนา

พระธาตุเป็นพระธาตุขนาดกลาง รูปทรงอาจเรียกทรงล้านนาได้ แต่ก็มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น ชั้นฐานทรงสี่เหลี่ยมยกเก็จนั้นยืดสูงและมีชั้นฐานสี่เหลี่ยมเทินรับอีกชั้นหนึ่งจนกลายเป็นจุดเ่นจุดเน้นขององค์พระธาตุ แทนที่จะเป็นชั้นมาลัยเถาเช่นธาตุทรงล้านนาองค์อื่นๆ
องค์ระฆังขนาดเล็กเทินบนชั้นมาลัยเถาก็ไม่ใช้รูปทรงระฆังคว่ำ แต่เป็นทรงกระบอกผายออกตอนบนเล็กน้อย บัวก็ทำเป็นแบบบัวคอเสื้อ แทนการใช้บัวคาดขวางกลางองค์ระฆังตามแบบล้านนา

พระธาตุลำปางหลวง


พระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุสำคัญของเมืองลำปางและล้านนาและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีฉลูตามความเชื่อของชาวล้านนา วัดนี้ปัจจุบันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลำปาง มีนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย หาโอกาสถ่ายรูปแบบไม่ติดรถหรือแม่ค้าไม่ได้แล้ว

วัดนี้มีศาลาบาตรหรือระเบียงคดล้อมทั้งเขตพุทธาวาส ซึ่งตั้งอยู่บนเนิน ทำซุ้มประตูและบันไดนาคทอดลงมารับด้านล่างเนิน ทำให้เด่น ซึ่งแบบอย่างนี้พบอีกแห่งหนึ่งในเมืองลำปาง คือที่วัดปงสนุก

พระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุขนาดใหญ่ ทรงล้านนา คือเป็นพระธาตุทรงกลมวางบนฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จเรือนธาตุจะเน้นช่วงมาลัยเถาสามชั้นมากกว่าองค์ระฆังที่มีขนาดเล็กเทินอยู่เหนือชั้นมาลัยเถา มีบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด แล้วครอบด้วยฉัตรโลหะตามแบบเจดีย์ของล้านนา

พระธาตุ วิหารหลวงและซุ้มประตู วางเรียงกันในแกนประธาน พื้นเป็นทรายปรับเรียบ หมายให้เป็นอย่างทะเลสีทันดรตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาล

ซุ้มประตูทำลวดลายปูนปั้นวิจิตรสวยงาม


วิหารโถงขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน ส่วนพื้นลานนั้นทางวัดได้เทพื้นปูกระเบื้องเซรามิคไปแล้วเพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเดินบนทราย

พระอุโบสถหรือโบสถ์

ศาลาบาตรหรือระเบียงคดที่วางล้อมเขตพุทธาวาส

พระธาตุแช่แห้ง

พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งของเมืองน่านและล้านนา
เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเถาะตามความเชื่อของชาวล้านนาด้วย

รูปทรงพระธาตุแช่แห้งเป็นแบบล้านนา คือเป็นพระธาตุทรงกลมวางบนฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จเรือนธาตุเน้นช่วงมาลัยเถาสามชั้นมากกว่าองค์ระฆังที่มีขนาดเล็กเทินอยู่เหนือชั้นมาลัยเถา มีบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด แล้วครอบด้วยฉัตรโลหะตามแบบเจดีย์ของล้านนา

บริเวณมีศาลาบาตรหรือระเบียงคดล้อมรอบอยู่ ซึ่งการสร้างระเบียงคดล้อมพระธาตุนี้พบไม่มากนักในล้านนา

ภายในพระวิหารที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้

หุ้มแผ่นทองทั้งองค์

พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนเนิน มีนาคคู่ทอดตัวยาวลงมารับพุทธศาสนิกชนถึงตีนเนิน ไม่ทำบันไดตามแบบทั่วไป แต่ทำเป็นทางลาดขึ้นไป จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็น "บันไดนาค"