25 กันยายน 2553

วัดกู่เต้า

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ 262 ปี ถึงพ.ศ. 2101 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตรย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่และล้านนา และสามารถยึดเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดายเนื่องจากบ้านเมืองขณะนั้นอ่อนแอที่สุด เสนาอามาตย์แตกความสามัคคี กษัตริย์ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองให้เป็นปกติได้
หลังจากยึดครองเชียงใหม่และล้านนาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนองทรงจัดการปกครองเชียงใหม่และล้านนาแบบประเทศราช ทรงตั้งพระเมกุฎิครองเมืองเชียงใหม่ต่อไปตามเดิม
พ.ศ.2106 พม่ายกกองทัพรบกับกรุงศรีอยุธยา โดยเกณฑ์กองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบ เห็นว่าพระเมกุฎิไม่ได้ช่วยรบอย่างจริงจัง ทั้งยังพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า
พม่าจึงยกไพร่พลมาควบคุมเชียงใหม่ จับตัวพระเมกุฎิ นำไปไว้ยังเมืองหงสาวดีเมื่อพ.ศ.2107 แล้วตั้งพระนางวิสุทธิเทวี พระธิดาพญาเมืองเกษเกล้า ซึ่งถูกนำตัวไปเป็นชายาพระเจ้าบุเรงนองให้มาครองเมืองเชียงใหม่
พระนางวิสุทธิเทวีนับเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์สุดท้าย เพราะเมื่อสิ้นพระนางแล้ว พระเจ้าหงสาวดีทรงแต่งตั้งฟ้าสาวัตถี นรถามังคอย หรือมังนรธาช่อ พระโอรสที่เกิดจากพระนางวิสุทธิเทวีมาครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2121-2150)
ประมาณพ.ศ.2140 มังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ถวายเครื่องราชบรรณาการยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพราะพระเจ้ากรุงหงสาวดีนันทบุเรงทรงบัญชาให้ทัพเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุธยา มังนรธาช่อคงประเมินดูแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาเข้มแข็งขึ้นมาก ขณะที่กรุงหงสาวดีอ่อนแอลง หากทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา กรุงหงสาวดีคงไม่สามารถคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อสาวมิภักดิ์กรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงให้มังนรธาช่อครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป และทรงจัดการเมืองต่างๆในล้านนาที่แข็งเมืองต่อเชียงใหม่ด้วยเห็นว่าเป็นพม่า ให้กลับมาอยู่ในอำนาจปกครองของเชียงใหม่ตามเดิม รวมทั้งทรงห้ามทัพล้านช้างที่ยกมาตีเชียงใหม่
มังนรธาช่อครองเชียงใหม่จนสิ้นอายุ เมื่อสิ้นมังนรธาช่อ อนุชาได้นำอัฐิมาเก็บในกู่ที่ก่อขึ้นเป็นรูปคล้ายน้ำเต้า และสร้างวัดชึ้น ณ ที่นั้น เรียกว่าวัดเวฬุวัน หรือวัดกู่เต้า

กู่เต้า จัดเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษ ลักษณะคล้ายน้ำเต้า หรือบาตรพระซ้อนกัน 5 ชั้น มีซุ้มพระทั้งสี่ทิศทุกชั้นวางบนฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ส่วนปลายมีปลียอดและฉัตรโลหะแบบพม่า
ติดประดับด้วยเครื่องเคลือบเป็นรูปดอกไม้ สวย แปลกดี
หลังการบูรณะเมื่อพ.ศ.2551 ลักษณะกู่เต้าสีดำที่เห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็กก็หายไป กลายเป็นสีขาวโพลน ซึ่งคงเป็นไปตามรูปแบบเมื่อแรกสร้าง แต่สภาพภูมิอากาศบ้านเราก็ทำให้เริ่มมีคราบราดำเกิดขึ้น ไม่นานก็คงสวยเหมือนเดิม ^_^
พระในซุ้มจรนำดูเล็กผิดสัดส่วนของซุ้ม สงสัยไม่ใช่ของดั้งเดิม...
ปูนปั้นรูปตัวอะไรไม่แน่ใจ
ที่จอดรถร่มรื่น
โบสถ์หลังเล็กตามแบบล้านนา มีป้ายที่ขัดรัฐธรรมนูญบอกว่า "สตรีห้ามขึ้น"
ศาลาปล๋ายเหลี้ยมแบบพม่าที่กำลังรอเงินบริจาค
วิหารหลังใหญ่ สร้างขึ้นใหม่ ทำเป็นสองชั้น ใหญ่โตมโหฬาร
มกรคายนาคสวยๆที่บันไดทางขึ้นวิหาร
พระประธานปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอิทธิพลพม่า ทั้งองค์พระ ซุ้มพระและลวดลายด้านหลังที่นำมาจากธรรมาสแบบไทใหญ่หรือพม่า
วัดกู่เต้ามีศรัทธาชาวไทใหญ่และพม่ามาทำบุญด้วย ป้ายจึงต้องมีสองภาษา

08 สิงหาคม 2553

วัดพุทธเอ้น

วัดพุทธเอ้น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
กับโบสถ์น้ำหน้าวัด ที่สวยแปลกตา
โบสถ์น้ำใช้น้ำเป็นเขตสีมา เรียก อุทกเขปสีมา
เราจึงไม่เห็นใบเสมารอบโบสถ์หลังนี้

ปัจจุบันเหลือน้อยแล้ว เพราะทำโบสถ์บก ปักใบเสมากันหมด

ประตูทางเข้าด้านหน้าที่ทำลวดลายซะเนี๊ยบสวย ไม่ Folk เท่าไหร่เลย
ดูไม่ค่อยเข้ากับอาคาร

รูปถ่ายหน้าตรง สีสันสดใส มีป้ายขัดรัฐธรรมนูญปักอยู่ :)

แอบถ่ายด้านในผ่านช่องหน้าต่าง ก็ต้องร้องเสียดายจัง ใครช่วยเปลี่ยนโต๊ะหมู่ให้ท่านหน่อย

ธาตุใหม่ทรงล้านนา ก่อขึ้นเมื่อปี 40

พระประธานด้านในดูดี เพราะไม่มลังเมลืองเปล่งปลั่งเกินไป
ดูเป็นงานพื้นถิ่นดี แท่นแก้วก็เหมือนกัน สวยแบบไม่เนี๊ยบ

วิหารทรงล้านนา หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด ผังหักจ๊อก
มีสิงห์แบบพื้นเมืองนั่งเฝ้าบันไดอยู่คู่หนึ่ง
กำลังบูรณะใหม่ เห็นดินขอมุงหลังคาแล้วก็เสียดายอีกเหมือนกัน หนาเกินไป
คงจำเป็นเพราะต้องการความคงทนกว่าดินขอบางๆแบบเดิม
แต่ใช้อย่างหนานี้มันไม่ได้อารมณ์
ผมนี้เห็นแก่ตัวจริงๆ อะไรๆก็อยากเห็นอย่างที่ตัวเองชอบ...

สิงห์คู่นี้ขอเถอะครับ อย่าซ่อมให้เนี๊ยบเลย

ลวดลายที่ผนังหอไตรครับ

18 มกราคม 2553

วัดสำเภา

วัดสำเภามีวิหารแบบพื้นเมืองล้านนา หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด

บันไดทางขึ้นมีสิงห์คู่เฝ้าอยู่ เป็นสิงห์เหนือ ซึ่งมีอิทธิพลพม่าอยู่

ภายในวิหารมีเสาร่วมในเป็นเสากลม ซึ่งเอกลักษณ์หนึ่งของวิหารล้านนา

มีป้ายประวัติวัดพอสังเขปให้ทราบ

หน้าแหนบเป็นปูนปั้นบนพื้นไม้ แน่นปึ้กไม่มีที่ว่าง

พระพุทธรูปประธาน

ลองนั่งลงในห้องโถงตรงหน้าประธานถ่ายภาพแบบพาราโนรามา

วัดบ้านตาล

วัดบ้านตาล หรือ วัดลัฎฐิวัน มีวิหารทรงพื้นเมือง หน้า 3 ซด หลัง 2 ซด
แต่องค์ประกอบบางส่วนถูกปรับเป็นแบบภาคกลาง และใช้วัสดุสมัยใหม่ เช่น ใช้หินอ่อนบุพื้นและผนังภายในทั้งหมด และนาคที่บันไดหน้า

งานไม้แกะสลักที่หน้าแหนบ คอกีดและโก่งคิ้วสวยงามมาก แกะลึกทำให้เห็นลายชัดมาก

นาคตันสีดำ ถ่ายรูปให้ติดลายยาก

วิหารวางไว้หน้าธาตุแบบผสมผสานศิลปพม่าและพื้นเมือง ส่วนบนตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไป ทำแบบพม่า แต่ส่วนฐานถึงชั้นมาลัยเถา ทำเป็นแปดเหลี่ยมคล้ายแบบพื้นเมืองล้านนา ดูแปลกตา แต่ทำให้น่าสนใจขึ้น

หน้าต่างไม่มีซุ้ม บานแกะไม้ลายลึกสวยดี

ภายในมีปราสาทพระเจ้าองค์ใหญ่ สัดส่วนสวยงาม รายละเอียดตกแต่งดี

ธรรมาสลายนกยูง

สิงห์หน้าวัดรูปร่างสันทัด สีเขียวจางๆ สวยแปลกตาไม่เหมือนใคร

วัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีไม้ค้ำเยอะ บางอันสูงใหญ่ คนตานคงได้บุญเยอะ

15 กรกฎาคม 2552

โลหะปราสาทวัดราชนัดดา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้สร้างโลหะปราสาทหลังนี้ขึ้นที่วัดราชนัดดา
วัดที่ทรงสร้างให้กับพระองค์เจ้าโสมนัส ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์
วัดราชนัดดานี้ไม่มีพระเจดีย์ แต่ใช้โลหะปราสาทนี้แทน จึงตั้งอยู่ในตำแหน่งของพระเจดีย์

มียอดปราสาท 37 ยอด สัดส่วนสวยงาม

เครื่องยอดทำด้วยไม้ ซึ่งผุพังไปตามกาลเวลา ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ และเปลี่ยนเป็นทองแดงรมดำแทน

บนยอดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

30 พฤษภาคม 2552

พระธาตุหลวง กรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์

พระธาตุหลวงกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์แห่งล้านช้าง ที่ผ่านการบูรณะหลายครั้งจนรูปร่างสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปมาก

สถานที่สวยงาม ดูแลได้ดี และเงียบสงบปราศจากนักท่องเที่ยวให้เกะกะสายตา ดูเหมือนที่นี่เป็นที่เดียวที่มีการจัดการมรดกของชาติอย่างเหมาะสม ที่อื่นๆที่เราไปเยี่ยมเยือนคราวนี้คงต้องปรับปรุง

ภายในพระระเบียง เรียบร้อยสวยงามกว่าวัดส่วนใหญ่ในเมืองไทย จัดแสดงโบราณวัตถุราวกับว่ามันถูกออกแบบมาสำหรับเป็นส่วนจัดแสดงของ พิพิธภัณฑ์





ทวยแบบล้านช้างกับนักท่องเที่ยวที่กำลังเก็บภาพอย่างตั้งใจ

แถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง จั๊ดแถว!
ทั้งหมดแถว...ตร๊ง แช๊ะ!